ฟอสซิล คือ การทับถมของซากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในแหล่งน้ำ เมื่อสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งถือเป็นการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และธรณีวิทยาชนิดหนึ่ง
เมื่อสัตว์และพืชที่กล่าวถึงนั้นตายลง เมื่อเวลาผ่านไป ส่วนที่เปราะบางและอ่อนของร่างกายจะผุพัง เน่าสลายไป จะเหลือส่วนที่แข็งของร่างกาย เช่น กระดูก, กระดอง หรือ เปลือก เป็นต้น และเมื่อเวลาผ่านไป ส่วนที่เหลืออยู่ที่จะถูกทับถมด้วยทรายหรือโคลนเลนเป็นจำนวนมาก อยู่ด้านบนของซากสิ่งมีชีวิต แล้วน้ำจะถูกดูดซึมเข้าสู่ซากสิ่งมีชีวิต และแร่ธาตุจะกลายเป็นหิน ชั้นของโคลนเลนและทรายจะอัดตัวกันแน่น แล้วซากสิ่งมีชีวิตก็จะถูกฝังลงไปในชั้นของโคลนเลนและทรายลึกลงไปเรื่อย ๆ การทับถมนั้นจะแปรสภาพเป็น หินตะกอน ซึ่งเรามักจะพบฟอสซิลอยู่ในหินจำพวกนี้
นักธรณีวิทยามีวิธีตรวจสอบอายุของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจากซากฟอสซิล และได้นำมาร่างเป็นรูปร่างลักษณะของสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้ ทำให้เราสามารถศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตสมัยดึกดำบรรพ์ได้
ซากฟอสซิลที่อยู่ชั้นบนของชั้นหิน จะมีอายุน้อยกว่าฟอสซิลที่อยู่ลึกลงไป
เราแบ่งจำพวกของฟอสซิล ออกเป็นจำพวกใหญ่ ๆ ตามลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่ฝังตัวอยู่ได้ดังนี้
๑. กระจุกขน
๒.ปะการัง
๓. ปลาและปลาดาว
๔. พืช
๕. หอย
๖. แอมโมไนต์
๗. สัตว์เลื้อยคลาน
ในบางครั้ง หากว่าเราไม่สังเกตให้ดี เราอาจไม่ทราบว่าหินที่เราพบนั้นคือซากฟอสซิลก็ได้
(ที่มา : ความรู้รอบตัวฉบับกระชับ ชุดเกิดขึ้นได้อย่างไร, ต้นคำ ไชยสมหมาย, บก.เรียบเรียง) |